เกมรับมือตลาด “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซบ มาม่า ไวไว แตกไลน์สู่ร้านอาหาร

Cr: position magazine online

มาม่า-ไวไว แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ดิ้นหนีตาย จากสภาวะตลาดไม่โตเพราะพิษเศรษฐกิจ เปิดร้านอาหาร ร้านราเมงต่อยอดธุรกิจ มาม่าร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นลุยร้านราเมงโคราคุเอ็น ทางด้านไวไวเปิดร้านควิกเทอเรสประเดิมสาขาแรกหน้าโรงงานย่านเพชรเกษม

ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ส่งผลทำให้หลายๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน หรือแม้แต่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เคยถูกเรียกว่าเป็น “ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ” เพราะจากเดิมถ้าเศรษฐกิจตกคนยิ่งกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ปรากฏว่าช่วง 2 ปีมานี้ เศรษฐกิจไม่ดียอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลับยิ่งลดลง

ส่งผลให้ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในปี 2558 มีการเติบโตน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 44 ปี เพียงแค่ 0.4% ด้วยมูลค่าตลาด 14,500 ล้านบาท

แต่ถึงแม้ว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 1.6% ก็ตาม แต่ทุกวันนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือด เมื่อผู้บริโภคมีทางเลือกใหม่ๆ จากอาหารสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อ

ถึงแม้ว่าจะมีการแก้เกมด้วยการออกสินค้าในระดับพรีเมียม แบบถ้วย เพื่อขยับไปจับลูกค้าในระดับกลางถึงบน แต่ตลาดนี้ยังมีสัดส่วนเล็กมากเมื่อเทียบกับบะหมี่ซองซึ่งเป็นเป็นตลาดใหญ่ ครองตลาดผู้บริโภคฐานราก ซึ่งได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ หันไปซื้ออาหารประเภทอื่นอย่างข้าวถุงที่มีราคาถูกกว่าบะหมี่

ทำให้มาม่าเองต้องออกแคมเปญ ชิงโชค รถยนต์ ทอง ต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ กระตุกยอดขายให้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ทั้งมาม่าและไวไวก็เริ่มมองหาการ “ต่อยอด” แตกไลน์ธุรกิจออกไป ก้าวไปสู่ในเกมธุรกิจใหม่ๆ แต่ยังอยู่บนรากฐานของธุรกิจเดิม

โดยบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ในเครือของสหพัฒน์ ได้ลุยทำร้านราเมงด้วยการร่วมทุนกับ บริษัท โคราคุเอ็น โฮลดิ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด ในการบริหารร้าน “โคราคุเอ็น ราเมง” จากประเทศญี่ปุ่น

ทั้งคู่มองว่า ถึงแม้การแข่งขันจะสูง แต่โอกาสยังมี เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองแห่งอาหารการกิน และตลาดร้านอาหารก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านของเชนร้านอาหาร และร้านอาหารทั่วไป จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ทั้งสองแบรนด์ลงมาจับตลาดตรงนี้

จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้โคราคุเอ็น ราเมงได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2555 เปิดบริการไปแล้ว 6 สาขา แต่ดูเหมือนการแข่งขันจะไม่ง่ายอย่างที่คิด คู่แข่งมากหน้าหลายตา มีทั้งรายใหญ่ในไทย และร้านอิมพอร์ตจากญี่ปุ่น ทำให้ปัจจุบันมีร้านราเมงมากกว่า 1,000 ร้านในประเทศไทย

นอกจากนี้ การขาดประสบการณ์ในการทำตลาด และความไม่ชำนาญด้านทำเล ทำให้การขยายสาขาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ทางโคราคุเอ็นจึงตัดสินใจยุติการบริหารด้วยตนเอง แล้วใช้โมเดลการมองหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจในไทย

จึงเป็นที่มาของการมาร่วมมือกับ “ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” ที่มีความสนใจอยากเปิดร้านราเมงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะต้องการต่อยอดธุรกิจด้านเส้นในแบบที่ตนเองถนัด และได้พูดคุยเจรจากัน 3 เดือนจึงทำการร่วมทุนกึ่งเทกโอเวอร์ เปิดเป็น “บริษัท เพรซิเดนท์ โคราคุเอ็น จำกัด” ด้วยเงินลงทุน 25 ล้านบาท มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 70% บริษัท โคราคุเอ็น โฮลดิ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด 14% และบุคคล 16%

ในความร่วมทุนกึ่งเทกโอเวอร์ที่ว่านั้นทำให้สิทธิ์การบริหารร้านโคราคุเอ็นเป็นของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ โดยที่ทางโคราคุเอ็นไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ กำหนด ทั้งนี้ทางไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ยังได้ซื้อในส่วนของโรงงานผลิตเส้นราเมงมาด้วย แต่ไม่เปิดเผยมูลค่าการลงทุน ซึ่งจากเดิมโรงงานได้ตั้งอยู่ที่ อ.มหาชัย แต่จะทำการย้ายมารวมกับโรงงานของไทยเพรสซิเดนท์ฟูดส์ ที่อำเภอศรีราชา

Tsutae Niida ประธานบริษัท Kourakuen Holding Corporation กล่าวว่า “ตอนแรกที่เข้ามาทำตลาดตั้งเป้าขยาย 100 สาขาในไทย แต่เราไม่ชำนาญด้านทำเล และหลายๆ อย่าง จึงต้องมองหาพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อสร้างการเติบโต ตอนแรกคุยกับทางไทยเพรซิเดนท์ในลักษณะของการขายแฟรนไชส์ แต่เห็นว่ามีศักยภาพจึงทำการร่วมทุนกัน“

หลังจากที่มีการร่วมทุนเกิดขึ้นกันนั้นร้านโคราคุเอ็นภายใต้ชายคาใหม่ จึงเริ่มต้นจาก 2 สาขาที่ทำกำไรดีที่สุด คือ สาขาเกตเวย์เอกมัย และเจพาร์ค ศรีราชา ส่วนอีก 4 สาขาได้ทำการปิดบริการไปเพราะไม่สร้างกำไร และเร่งปั๊ม 30 สาขาภายใน 5 ปี โดยเริ่มต้นจากพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน แล้วจึงขยายไปยังต่างจังหวัด

เพชร พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “เราถนัดในเรื่องเส้น จึงมองหาแต่ร้านร้านอาหารประเภทราเมงเพื่อมาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งยอมรับว่าตลาดนี้การแข่งขันสูงมาก แต่จุดแข็งที่โคราคุเอ็นจะใช้เพื่อสู้ในตลาดราเมงหลักๆ เป็นในเรื่องของเมนูที่มีความหลากหลายทั้งราเมง เมนูข้าว และเกี๊ยวซ่า เพราะในปัจจุบันมีร้านราเมงที่แยกเซ็กเมนต์ชัดเจนเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงในเรื่องราคาในระดับกลาง ในขณะที่ร้านราเมงอิมพอร์ตจะมีราคาแพง 100-300 บาท”

ทางไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ได้ตั้งเป้ารายได้ภายใน 1 ปีนี้ 40 ล้านบาท โดยที่ปีนี้ยังไม่มีการขยายสาขาเพิ่มเติม

 

“ไวไว” แตกไลน์ “ควิกเทอเรส” สู่ธุรกิจร้านอาหาร

ทางด้านไวไวและควิกเป็นอีกแบรนด์ที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการขยับตัวค่อนข้างเยอะ สำหรับแบรนด์ควิกเองที่ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของการสร้างแบรนด์เพื่อให้เกิดการรับรู้แก่ผู้บริโภค ในกลุ่มวัยรุ่น ในปีที่แล้วมีการใช้พรีเซ็นเตอร์กลุ่มพร้อมกันถึง 7 คน และเป็นการเน้นการทำตลาดของบะหมี่แบบถ้วย แต่ไม่มีการออกรสชาติอะไรใหม่ๆ ออกมา

สิ่งใหม่ๆ ที่ไวไวต้องการเพิ่มไม่ใช่พอร์ตสินค้า แต่เป็นธุรกิจใหม่ ล่าสุดได้มีการแตกไลน์ธุรกิจร้านอาหารเช่นกัน แต่เป็นการลงทุนสร้างแบรนด์ใหม่เองใช้ชื่อร้านว่า “ควิกเทอเรส” ประเดิมลองตลาดที่หน้าโรงงานของตนเองย่านเพชรเกษมเป็นสาขาแรก ที่ได้เปิดให้บริการเมื่อช่วงกลางปี 2558 ที่ผ่านมา

ครั้งนี้เป็นการแตกไลน์ธุรกิจครั้งใหญ่อีกครั้งในรอบ 10 ปี หลังจากที่ไวไวเคยแตกไลน์ธุรกิจเครื่องปรุงรสแบรนด์ “รสเด็ด” มาแล้ว ความสำคัญของการที่ไวไวลงมาเล่นตลาดนี้ก็เพื่อต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถขายให้ได้มากกว่าบะหมี่ซองละ 6 บาทเท่านั้น เพื่อตอบรับกับตลาดที่ไม่มีการเติบโต

ยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด กล่าวว่า “ในช่วงปีนี้ยังไม่มีการลงทุนอะไรเพิ่มเท่าไหร่ แต่อยากแตกไลน์ธุรกิจมากกว่าเพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจเดิมที่เรามีจุดแข็งที่วัตถุดิบเรื่องเส้น เลยทำเป็นร้านอาหารเพราะสามารถขายได้แพงขึ้นมากกว่าบะหมี่ซองละ 6 บาท ในอนาคตจะมีการขยายสาขาเป็นเชนร้านอาหารเลย”

ควิกเทอเรสเป็นร้านอาหารประเภทอาหารจานเดียวที่ทางไวไวได้ต่อยอดจากธุรกิจเส้นของตนเอง เอาวัตถุดิบเส้นที่มีอยู่มาแปลงร่างเป็นเมนูอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า จากที่ขายบะหมี่ได้ซองละ 6 บาท เมนูมีทั้งประเภทยำ ซูชิ สปาเกตตี ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ราคาเริ่มต้นที่ 35-55 บาท

แผนในการขยายสาขาของควิกเทอเรส ยศสรัลบอกว่า คงไม่ไปสู้กับร้านอาหารในห้าง อาจจะมองเป็นทำเลมหาวิทยาลัย สำนักงาน และแหล่งท่องเที่ยว มองที่ทำเลมหาวิทยาลัยมหิดล เพราะสามารถควบคุมได้ง่าย อยู่ใกล้กับโรงงาน ภายในสิ้นปีนี้จะขยายเพิ่ม 1 สาขา และตั้งเป้าขยาย 50 สาขาภายใน 5 ปี

ส่วนแผนในปีนี้สำหรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยศสรัลมองว่า จะเพิ่มในตลาดกลุ่มพรีเมียมในลักษณะของการใส่ชิ้นเนื้อลงไป หรือซองใหญ่ขึ้น ทำให้ขายได้ในราคาสูงขึ้น จาก 6 บาทเป็น 8 บาท หรือจาก 13 บาท เป็น 15 บาท อาจจะได้เห็นในช่วงปลายปีนี้

นับเป็นอีกหนึ่งในความเคลื่อนไหวของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องต่อยอดธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ และบริบทการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

ไทยแลนด์ 4.0

ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถ้าใครติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวมอบนโยบายและปาฐกถาพิเศษในงานต่างๆ จะมีคำพูดใหม่ออกมาว่า จะนำพาประเทศก้าวสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0”

แล้ว “ประเทศไทย 4.0” คืออะไร เราๆ ท่านๆ ชาวบ้านร้านตลาดคงอดสงสัยไม่ได้ ว่าผู้นำประเทศกำลังจะพาพวกเราไปทางไหน และไปได้จริงหรือเปล่า

คำอธิบายเบื้องต้นที่ขยายความให้เห็นภาพได้บ้างก็คือ ประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมามีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โมเดล “ประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “ประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่โมเดลปัจจุบัน “ประเทศไทย 3.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก

ทว่า ภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 3.0” ที่เป็นอยู่กันตอนนี้ต้องเผชิญกับดักสำคัญที่ไม่อาจนำพาประเทศพัฒนาไปมากกว่านี้ จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องสร้างโมเดลใหม่ขึ้นมาเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศและนำพาประชาชนทั้งประเทศไปสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ให้ได้ภายใต้ 3-5 ปีนี้

เพื่อสร้างความเข้าใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น บุคคลที่จะมาไขรหัสโมเดลใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี คือ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะมาบอกพวกเราว่า “ประเทศไทย 4.0” คืออะไร แล้วจะมีโอกาสใดในเศรษฐกิจใหม่เกิดขึ้นมาบ้าง

ดร.สุวิทย์เริ่มต้นอธิบายว่า ดังที่ทราบกันดีว่า ยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เน้นในเรื่องการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน” ขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านกลไก “ประชารัฐ”

นอกเหนือจากการต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมไว้มานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมายไม่รายงานและไร้การควบคุม (IUU) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้ง ตลอดจนรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และวิกฤติภัยแล้งแล้ว

ภารกิจประการสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ก็คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามชุดใหม่ในศตวรรษที่ 21 นี้

หลายประเทศได้กำหนดโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความมั่งคั่งในศตวรรษที่ 21 อาทิ สหรัฐอเมริกาพูดถึง A Nation of Makers อังกฤษกำลังผลักดัน Design of Innovation ขณะที่จีนได้ประกาศ Made in China 2025 ส่วนอินเดียก็กำลังขับเคลื่อน Made in India หรืออย่างเกาหลีใต้ก็วางโมเดลเศรษฐกิจเป็น Creative Economy เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยเอง ณ ขณะนี้ยังติดอยู่ใน “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” จะเห็นได้จากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ในช่วงระยะแรก (พ.ศ.2500-2536) เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 7-8% ต่อปี อย่างไร ก็ตาม ในช่วงระยะถัดมา (พ.ศ.2537-ปัจจุบัน) เศรษฐกิจไทยเริ่มมีการเติบโตในระดับเพียง 3-4% ต่อปีเท่านั้น

ประเทศไทยจึงมีอยู่แค่ 2 ทางเลือก หากเราปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จ ประเทศไทยจะกลายเป็น “ประเทศที่มีรายได้ที่สูง” แต่หากทำไม่สำเร็จ ก้าวข้ามกับดักนี้ไปไม่ได้ ประเทศไทยก็จะตกอยู่ในภาวะที่เรียกกันว่า “ทศวรรษแห่งความว่างเปล่า” ไปอีกยาวนาน

สร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศ

หากย้อนหลังไปในอดีต ประเทศไทยเองก็มีการปรับโมเดลเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง เริ่มจาก “โมเดลประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก

อย่างไรก็ดี ภายใต้ “โมเดลประเทศไทย 3.0” นั้น นอกจากต้องเผชิญกับกับดักประเทศรายได้ปานกลางแล้ว เรายังต้องเผชิญกับ “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา” กับดักเหล่านี้เป็นประเด็นที่ท้าทายรัฐบาล ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อก้าวข้าม “ประเทศไทย 3.0” ไปสู่ “ประเทศไทย 4.0”

“ประเทศไทย 4.0” เป็นความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” กล่าวคือ ในปัจจุบัน เรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” เราต้องการปรับเปลี่ยนเป็น “ทำน้อย ได้มาก” นั่นหมายถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติสำคัญ คือ

  1. เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม”

2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

“ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ

1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)

2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง
3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services

4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า “ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการพัฒนา “เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” (New Engines of Growth) ด้วยการแปลง “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” ของประเทศที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ให้เป็น “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน”

โดยการเติมเต็มด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็น “5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ประกอบด้วย

1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech)

2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med)

3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics)

4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology)

5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)

ทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง “New Startups” ต่างๆมากมาย อาทิ เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) ในกลุ่มที่ 1

เทคโนโลยีสุขภาพ (Healthtech) เทคโนโลยีการแพทย์ (Meditech) สปา ในกลุ่มที่ 2

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotech) ในกลุ่มที่ 3

เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน (IoT) เทคโนโลยีการศึกษา (Edtech) อี–มาร์เก็ตเพลส (E–Marketplace) อี–คอมเมิร์ซ (E–Commerce) ในกลุ่มที่ 4

เทคโนโลยีการออกแบบ (Designtech) ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing) ในกลุ่มที่ 5 เป็นต้น

ใช้พลังประชารัฐเดินไปข้างหน้า

“ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการถักทอเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลักที่ต้นน้ำ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่กลางน้ำ และ Startups ต่างๆที่อยู่ปลายน้ำ โดยใช้พลัง “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อน

ผู้มีส่วนร่วมหลักจะประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐเป็นตัวสนับสนุน

ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ จะมีภาคเอกชน คือ กลุ่มมิตรผล บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นแกนหลัก โดยมีภาคการเงิน คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินสนับสนุนทางด้านการเงิน

มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยในภูมิภาคต่างๆ เป็นแกนนำในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัย Wageningen ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ มหาวิทยาลัย Purdue, UC Davis และ Cornell ซึ่งจะมีภาครัฐคอยให้การสนับสนุน เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)

ซึ่งหนึ่งในโครงการที่กำลังผลักดันผ่านกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เป็นต้น

โดยทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมายใน “ประเทศไทย 4.0” เป็นส่วนหนึ่งของ “10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” (5 อุตสาหกรรมที่เป็น Extending S-Curve บวก 5 อุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve) ที่รัฐบาลได้ประกาศไปก่อนหน้านั้น กล่าวคือ ใน “10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” จะมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ยังต้องพึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมการบิน (Aviation)

ส่วนใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมายใน “ประเทศไทย 4.0” จะเป็นส่วนที่ประเทศไทยต้องการพัฒนาด้วยตนเองเป็นหลัก แล้วค่อยต่อยอดด้วยเครือข่ายความร่วมมือจากต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับ “บันได 3 ขั้น” ของ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ “การพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง” นั่นเอง

ตั้งเป้าสัมฤทธิ์ใน 3–5 ปี

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า เป้าหมายของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” คือ การขับเคลื่อน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า เป็นการเปลี่ยน “ปัญหาและความท้าทาย” ให้เป็น “ศักยภาพและโอกาส” ในการสร้างความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

เช่น เปลี่ยนจากปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้เป็น สังคมผู้สูงอายุที่มีพลัง (Active Aging) การพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ การยกระดับเมืองให้เป็น Smart City

การเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล มันสำปะหลัง ให้กลายเป็นอาหารสุขภาพ (Functional Foods) หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Nutraceutics) ที่มีมูลค่าสูง การเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม ให้เป็นการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) และพัฒนาระบบการบริหารจัดการและเทคโนโลยีน้ำ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป กระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศ ภายใต้ “ประเทศไทย 4.0” มี 3 ประเด็นที่สำคัญ

1.เป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม

2.เป็น “Reform in Action” ที่มีการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปการวิจัยและการพัฒนา และการปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมๆ กัน

3.เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” โดยเป็นประชารัฐที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรระดับโลก ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของการ “รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน”

********************

หากแนวคิด ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก้าวเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ได้จริงตามที่ ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็น่าจะเป็นหนทางที่จะนำพาให้คนไทยได้หลุดพ้นจากความยากจน เพียงแต่สถานการณ์การเมืองจำเป็นจะต้องนิ่งต่อไปอีก 1–2 ปี เพื่อที่ประเทศไทยจะได้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาที่มีความร่ำรวยเสียที.

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ